(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพจำลองของศูนย์ถ่ายภาพชีวการแพทย์แบบหลากหลายโหมดและเชื่อมโยงข้อมูลหลายระดับ ที่ทำขึ้นโดยมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองวิทยาศาสตร์หวยโหรว ในเขตชานเมืองฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง)
ปักกิ่ง, 26 เม.ย. (ซินหัว) -- วันพฤหัสบดี (24 เม.ย.) ที่ผ่านมา มีการเปิดตัวโครงการวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ขึ้นที่เมืองวิทยาศาสตร์หวยโหรว (Huairou Science City) ของกรุงปักกิ่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและโรคร้ายแรง ผ่านการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ
โครงการนี้มีชื่อว่า "ชีวิตดิจิทัล" (Digital Life) ดำเนินการโดยศูนย์ภาพถ่ายชีวการแพทย์แห่งชาติ (National Biomedical Imaging Center - NBIC) แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง โดยอาศัยพื้นฐานจากศูนย์ถ่ายภาพชีวการแพทย์แบบหลากหลายโหมดและเชื่อมโยงข้อมูลหลายระดับ (Multimode Trans-Scale Biomedical Imaging Facility) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของจีน
ศูนย์ภาพถ่ายฯ จะเปิดตัวโครงการสำคัญชุดแรกจำนวน 13 โครงการ ซึ่งเป็นการร่วมมือกับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และโรงพยาบาลแห่งต่างๆ โดยเนื้อหาของโครงการจะครอบคลุมประเด็นด้านชีวการแพทย์ เช่น กลไกการเสพติดของสมองในรูปแบบดิจิทัล การถอดรหัสนาฬิกาชีวภาพด้วยปัญญาประดิษฐ์ หัวใจดิจิทัล ไขกระดูกดิจิทัล เซลล์ต้นกำเนิดดิจิทัล และเนื้องอกดิจิทัลพร้อมสภาพแวดล้อมจุลภาคของเนื้องอก (Tumor microenvironment)
การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี เช่น บิ๊กดาต้าและเอไอ กำลังเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์การวิจัยทางชีวการแพทย์อย่างลึกซึ้ง เนื่องจากวิธีการดั้งเดิมมีข้อจำกัดในการเชื่อมโยงข้อมูลข้ามระดับ ตั้งแต่โมเลกุล เซลล์ อวัยวะ ไปจนถึงกิจกรรมของชีวิตทั้งหมด
การสังเกตที่หลากหลายและข้ามระดับซึ่งอยู่ในรูปแบบของข้อมูลภาพ (Data Visualization) รวมถึงการวัดโครงสร้างและหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตอย่างแม่นยำ การสร้างภาพดิจิทัลของกลไกของสิ่งมีชีวิตและโรค จะช่วยเปิดมุมมองเชิงลึกใหม่ๆ ให้กับการศึกษาชีววิทยาขั้นสูงที่มีความซับซ้อนและโรคร้ายแรงต่างๆ
เฉิงเหอผิง ผู้อำนวยการศูนย์ภาพถ่ายฯ และนักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Science) กล่าวว่าโครงการขนาดใหญ่นี้มุ่งรับมือกับความท้าทายในการผสานข้อมูลข้ามระดับในระบบชีวิตที่ซับซ้อน ถอดรหัสความลับของชีวิต ให้ข้อสนับสนุนการศึกษากลไกของโรค รวมถึงพัฒนาการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine)
ด้านเฉินเหลียงอี๋ รองผู้อำนวยการศูนย์ภาพถ่ายฯ เสริมว่าผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เช่น ชีววิทยา แพทยศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ จะร่วมกันทำงานเพื่อถอดรหัสดิจิทัลของเซลล์ อวัยวะ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ เพื่อเปิดเผยกลไกของกระบวนการทางสรีรวิทยาและพยาธิวิทยาให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์ถ่ายภาพชีวการแพทย์แบบหลากหลายโหมดและเชื่อมโยงข้อมูลหลายระดับ ถือเป็นหนึ่งใน 10 โครงการสำคัญในแผนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับชาติของจีน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (ปี 2016-2020) ซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดยมหาวิทยาลัยปักกิ่ง สถาบันชีวฟิสิกส์สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน และสถาบันอื่นๆ โดยผ่านการตรวจรับระดับชาติตั้งแต่เดือนมีนาคม 2025